นิยามฝน
"ฝนหลวง" เป็นเทคโนโลยีที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ทรงประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมาและพระราชทานให้เป็นเทคโนโลยีในการดัดแปรสภาพอากาศให้เกิดฝนจากเมฆอุ่น (Warm Cloud) และเมฆเย็น (Cold Cloud) ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาตร์ที่กระทำด้วยความตั้งใจของมนุษย์ ซึ่งมีการวางแผนการปฏิบัติการหวังผลที่แน่นอนโดยการใช้สารทำฝนที่ดูดซับความชื้นได้ดี (Hygroscopic substance) ทั้งในบรรยากาศหรือเมฆที่มีอุณหภูมิสูงกว่าหรือต่ำกว่าจุดเยือกแข็งเป็นตัวกระตุ้นหรือเร่งเร้าให้เกิดกระบวนการเกิดฝนเร็วขึ้นและปริมาณมากยิ่งขึ้น ตั้งแต่ขั้นตอนการเกิดเมฆ (Cloud formation) การเจริญของเมฆ (Cloud-growth) และการเกิดฝน (Rain initiation) การยืดอายุฝน (Prolonging Rain duration) ให้นานขึ้น มีวันฝนตกถี่ขึ้น เพิ่มปริมาณฝน (Rain enchancement) ให้ฝนตกกระจายอย่างทั่วสม่ำเสมอ (Rain redistribution) บังคับและชักนำฝนให้ตกลงสู่พื้นที่เป้าหมายที่กำหนดได้อย่างแม่นยำ และแผ่เป็นบริเวณกว้างมากกว่าที่จะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ
คำศัพท์
การก่อเมฆฝน (Triggering)
เป็นการดัดแปรสภาพอากาศเพื่อกระตุ้นหรือส่งเสริมให้เกิดเมฆ
การเลี้ยงเมฆให้อ้วน (Fattening)
เป็นการรวบรวมและทำมวลเมฆให้โตและแน่นขึ้นเพียงพอ
การโจมตี (Attacking)
เป็นการจัดการกับมวลเมฆแน่นนั้นให้ควบแน่นและตกเป็นฝนลงบนพื้นที่เป้าหมาย
ความกดอากาศ
เป็นความกดดันอยู่จุดใดจุดหนึ่งของชั้นบรรยากาศของโลก โดยทั่วไปความกดอากาศจะประมาณเท่ากับความกดดันที่เกิดขึ้นย้อนน้ำหนักของอากาศอยู่บนจุดนั้นๆ
ความชื้นสัมพันธ์
เป็นอัตราส่วนของจำนวนไอน้ำที่มีอยู่ในอากาศต่อจำนวนไอน้ำที่อาจมีได้จนอิ่มตัวเต็มที่ในอากาศเดียวกันนั้น ความชื้นสัมพันธ์จึงกำหนดเป็นเรือนร้อยโดยให้จำนวนความชื้นที่อิ่มตัวเต็มที่เป็น ๑๐๐ ส่วน
ทิศทางลม
ทิศซึ่งลมพัดเข้า
ปริมาณความเข้มแสง
ปริมาณแสงสว่างที่ตกกระทบลงบนหนึ่งหน่วยพื้นที่ที่กำหนด
ฝนสะสมภายใน ๑ ชั่วโมง
ปริมาณฝนเฉลี่ยสะสมภายในระยะเวลา ๑ ชั่วโมง
ฝนสะสมตั้งแต่ ๗.๐๐ น.
ปริมาณฝนเฉลี่ยสะสมตั้งแต่เวลา ๗.๐๐ น. จนถึงปัจจุบัน
คำศัพท์ ปฏิบัติการฝนหลวง
การปฏิบัติการฝนหลวง
ขั้นตอนต่างๆ ที่ใช้สารฝนหลวงดัดแปรสภาพอากาศให้เกิดฝน
เวลา ว.๔
เวลาที่ปฏิบัติการฝนหลวง
ภารกิจ
การขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงแต่ละครั้ง
น้ำหนัก
น้ำหนักสารฝนหลวงที่ใช้ในแต่ละขั้นตอนหน่วยเป็นกิโลกรัม
ระดับ
ระดับความสูงที่โปรยสารฝนหลวงหน่วยเป็นฟุต
พิกัด
ตำแหน่งละติจูด ลองติจูด ที่โปรยสารฝนหลวงมีหน่วยเป็น องศาลิปดาเหนือ(N) และตะวันออก(E)
ฝนเมฆอุ่น
ฝนที่ตกจากเมฆที่อุณหภูมิสูงกว่า ๐ องศาเซลเซียส
ฝนเมฆเย็น
ฝนที่ตกจากเมฆที่อุณหภูมิต่ำกว่า ๐ องศาเซลเซียส
พื้นที่กรวย
พื้นที่หวังผลจากการปฏิบัติการฝนหลวง
การตรวจอากาศชั้นบน
คือการตรวจวัดอุณหภูมิ ความชื้น ความกดอากาศ ทิศทาง และความเร็วลม ที่ระดับความสูงต่างๆ โดยติดหัววัดต่างๆ ไว้กับบอลลูนแล้วปล่อยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ
การโจมตีแบบแซนด์วิช
เทคนิคการทำให้ฝนตกจากเมฆอุ่นและเมฆเย็นโดยการโปรยสารฝนหลวงสามระดับ คือ ระดับล่างใช้สารฝนหลวงสูตร ๔ เหนือฐานเมฆ ระดับกลางใช้สารฝนหลวงสูตร ๑ บริเวณกลางเมฆที่มีอุณหภูมิสูงกว่าศูนย์องศาเซลเซียส
การโจมตีแบบซุปเปอร์แซนด์วิช
เทคนิคการทำให้ฝนตกจากเมฆอุ่นและเมฆเย็นโดยการโปรยสารฝนหลวงสามระดับ คือ ระดับล่างใช้สารฝนหลวงสูตร ๔ เหนือฐานเมฆ ระดับกลางใช้สารฝนหลวงสูตร ๑ บริเวณกลางเมฆที่มีอุณหภูมิสูงกว่าศูนย์องศาเซลเซียส และระดับบนสุดใช้สารฝนหลวงพลุ Agl ยิงเหนือยอดเมฆที่อุณหภูมิประมาณ -๑๐ องศาเซลเซียส
Target Direction
ทิศทางเป้าหมายหวังผลการปฏิบัติการ
kft
ชื่อย่อของ kilo-feet หรือ ๑,๐๐๐ ฟุต เช่น ๕ kft เท่ากับ ๕,๐๐๐ ฟุต
Precipitation Accumulate By Radar
ปริมาณน้ำฝนสะสมที่ตรวจวัดโดยเรดาร์ตรวจกลุ่มฝน
Estimate Precipitation mm.r
การประมาณปริมาณน้ำฝนจากเรดาร์หน่วยเป็นมิลลิเมตร (mm.)
คำศัพท์ สารทำฝนหลวง
สารฝนหลวง
สารที่ใช้ในการดัดแปรสภาพอากาศให้เกิดฝน
สูตรแกน
สารฝนหลวงทำหน้าที่เป็นแกนกลั่นตัวของความชื้นกลายเป็นหยดน้ำ
สูตรร้อน
สารฝนหลวงเมื่อทำปฏิกิริยากับความชื้นหรือน้ำทำให้อากาศโดยรอบร้อนขึ้น
สูตรเย็น
สารฝนหลวงเมื่อทำปฏิกิริยากับความชื้นหรือน้ำทำให้อากาศโดยรอบเย็นลง
สูตรเย็นจัด
สารฝนหลวงที่ทำให้อากาศโดยรอบเย็นลงอย่างรวดเร็ว
สูตรแกนน้ำแข็ง
สารฝนหลวงทำหน้าที่เป็นแกนให้น้ำเย็นจัดกลายเป็นน้ำแข็ง
สูตร ๑(๔/๑)
สารฝนหลวงสูตรแกนเกลือ(ทั่วไป) ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ โซเดียมคลอไรด์ (NaCl)
สูตร ๑(๔/๒)
สารฝนหลวงสูตรแกนเกลือ(ทะเล) ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ โซเดียมคลอไรด์ (NaCl+)
สูตร ท.๑
สารฝนหลวงสูตรแกนเทพฤทธิ์๑ ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ โซเดียมคลอไรด์ (NaCl++)